
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงการออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต (Redesigning Future Education) งานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี ว่า สสวท. วางแนวทางเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพสูง แข่งขันได้ เป็นคนที่สร้างคุณค่า ตามเป้าหมายเพื่อก้าวสู่ความผาสุก หรือ Well-Being ของ OECD ว่าได้กำหนด 5 เป้าหมายภารกิจสำคัญเพื่อยกระดับผู้เรียนยุค 4.0 คือ ปรับเปลี่ยนเนื้อหาหรือสื่อกระดาษเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจ ทั้งผู้เรียนและครูสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนรู้ได้เข้าใจและสะดวกในการเข้าถึง
พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยี เช่น AI และ Machine Learning สนับสนุนการจัดเนื้อหาหรือหัวข้อที่ตรงกับช่วงวัย ความต้องการ และความสนใจของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ออนไลน์ให้ครู ผู้ปกครอง และประชาชนในการแลกเปลี่ยนความรู้พัฒนาการศึกษา โดยได้นำ AI และ Machine Learning ไปใช้ในโปรเจกต์ 14 PLUS ซึ่งเป็นโครงการเรียนรู้ออนไลน์ที่สสวท.พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงฉับพลันของโลกจากการระบาดของโรคโควิด -19 และส่งเสริมให้ครู นักเรียน ใช้เรียนออนไลน์ได้อย่างเกิดประโยชน์ทันสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถติดตามการเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถัดไปคือส่งเสริมบทบาทครูให้เป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” แทนการเป็นผู้สอน ผู้ถ่ายทอดแบบเก่า เข้าถึงนักเรียนได้เท่าทันรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลง
“สร้างศักยภาพด้วยการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ให้ครูเน้นส่งเสริมเด็กคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา เกิดทักษะจากการปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก้าวทันเทคโนโลยีและเลือกใช้อย่างสร้างสรรค์ พึ่งพาตนเองได้ มีสมรรถนะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในยุค 4.0”
ประการสุดท้ายคือ การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ปัญหาและพัฒนาประเทศด้วยฐานความรู้ ที่ผ่านมา สสวท. ประสบความสำเร็จในการสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นเป็นพลังการพัฒนา โดยจะเน้นภารกิจด้านนี้ให้เข้มข้นขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรองรับยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่ต้องแข่งขันด้วยนวัตกรรม