
ทิศทางการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในยุค 4.0 จะเป็นอย่างไร ผ่านการแลกเปลี่ยนทัศนะของ 4 ผู้นำด้านการศึกษาร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ทิศทางการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในยุค 4.0” ที่จัดขึ้นในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี ภายใต้แนวคิด “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)
ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. มีพันธกิจหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดทั้งการส่งเสริมการผลิตครู อาจารย์ ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ผ่านโครงการนักเรียนทุน พสวท. ทุนครู สควค. และโครงการโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งได้มีการวิจัยและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมมาตลอดว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าใครเป็นผู้มีความสามารถพิเศษ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพคนเหล่านี้ให้สูงที่สุด และอะไรคือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสนับสนุน
เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้มีความสามารถเหล่านี้ ให้มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมก้าวเข้าสู่วัยเรียนและโลกการทำงานอย่างมีคุณภาพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการร่วมมือพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างแข็งขัน
ทั้งนี้ บัณฑิตที่เป็นผลผลิตจากทั้ง 3 โครงการของ สสวท. ส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานตอบแทนประเทศอยู่ในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างงานวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ และรางวัลมากมายจนเป็นที่ประจักษ์ ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในยุค 4.0
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า เราต้องมองผู้มีความสามารถพิเศษเหล่านี้เป็น Brain power ของประเทศ เด็กทุนหลายคนเก่งและมีศักยภาพสูงมาก ควรให้ความสำคัญและส่งเสริมอย่างเหมาะสมเป็นพิเศษ มีตำแหน่งงานและเงินเดือนที่เหมาะสมให้ได้ท้าทายความสามารถและใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ควรต้องกลับมามองความต้องการของประเทศ และส่งเสริมในสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการในอนาคต พร้อมติดตามประเมินผลการเรียนรู้ตลอดช่วงการศึกษา รวมถึงต้องยืดหยุ่นในความเปลี่ยนแปลง เพราะความสำเร็จในอดีตอาจจะนำมาใช้กับอนาคตไม่ได้เสมอไป ควรมีกลไกหรือช่องทางที่เปิดใหม่เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ให้สามารถเรียนจบและกลับมาปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รศ. ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้มุมมองในเรื่องความจำเป็นในการพัฒนาครูไว้ว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ระบบนิเวศทางการศึกษาจะเปลี่ยนไปอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมพร้อมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเข้าใจและมีทักษะในสำหรับการจัดการเรียนรู้ในอนาคต
ทุนผลิตครู สควค. เป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการป้อนครูคุณภาพสูงสู่ระบบการศึกษาไทย แต่นอกจากการดึงคนที่มีความสามารถสูงมาเป็นครูแล้ว การศึกษาไทยยังต้องการตัวช่วยอื่น ๆ เพื่อเติมเต็มกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูในยุคดิจิทัล ซึ่งครูยุคใหม่จะเก่งแต่เรื่องคอนเทนต์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเก่งเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนแต่ละช่วงวัย พัฒนาให้เด็กมี hard skill และ soft skill บ่มเพาะให้เด็กมีความรับผิดชอบ มีเจตคติที่ดี เพื่อเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกอย่างผาสุก
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นทุน พสวท. ว่า นักเรียนทุน พสวท. เป็นกำลังคนที่มีศักยภาพสูง เป็นกลุ่มคนหัวหอกในการพัฒนาประเทศ หลายคนเก่งในระดับ world-class แต่จะทำอย่างไรให้มีคนเก่งแบบนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน เราควรกลับมาทบทวนว่า สาขาใดเป็นสาขาที่ควรส่งเสริมสนับสนุนในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะด้าน frontier science โดยให้อิสระในการเลือกเรียนตามความสามารถและความสนใจ พร้อมมีแหล่งงานที่เหมาะสมและท้าทายความสามารถในการชดใช้ทุน เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างสูงสุด
คุณกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี อดีตนักเรียนทุนโอลิมปิกวิชาการ และ Vice President, Business Risk and Macro Research, ธนาคารกรุงไทย ได้สรุปเพิ่มเติมในประเด็นการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษไว้อย่างน่าสนใจว่า ควรพิจารณาปรับปรุงใน 3 ประเด็น คือ
1. วิธีการ : ได้แก่ build buy และ borrow เมื่อก่อนเน้น build (ผลิตกำลังคน) มากเกินไป ซึ่งกว่าจะเรียนจบตรี-โท-เอก ต้องใช้เวลายาวนาน ในขณะที่องค์ความรู้หรือความต้องการของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น วิธีที่น่าสนใจเพื่อให้ได้คนเก่งทันใช้งานตามสถานการณ์ คือ buy (ช้อนซื้อคนเก่ง) และ borrow (เคลื่อนย้ายกำลังคน)
2. เนื้อหา: ต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาโลกในอนาคต เช่น green economy AI Quantum และเทรนด์ในอนาคตอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต
3. เงื่อนไข: อนาคตอาจต้องเปิดกว้างเรื่องการเรียนและการทำงานให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ริเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยอาจให้ทำงานใน SMEs หรือ ทำงานข้ามพรมแดนได้ ส่วนการเรียนต่อเนื่องยาวนานอาจไม่จำเป็นและไม่ควรบังคับ แต่ต้องส่งเสริมให้ reskill upskill อยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
รับชมเสวนาวิชาการ เรื่อง ทิศทางการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในยุค 4.0 ย้อนหลัง (ช่วงเวลา 4:20:36 -5:44:00) ที่ https://facebook.com/ipst.thai/videos/600454591019173
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดและคลิปย้อนหลังกิจกรรมต่าง ๆ ในงานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี ได้ทาง Facebook: IPST Thailand หรือ Youtube: IPST Channel ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://50th.ipst.ac.th