สรุปบทสัมภาษณ์พิเศษ ผอ.สสวท. โดย จส.100

🎙️ บทสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
🔹 ขอบคุณ จส.100 ที่ให้โอกาส สสวท. ได้บอกเล่าเรื่องราวการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในวัน International Pi Day (14 มีนาคม 2565)

 Q: การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในวันนี้ แตกต่างจากสมัยก่อนหรือไม่อย่างไร

A: แตกต่างอย่างแน่นอน
หากเรามองไปรอบตัวเรา โลกเราเปลี่ยนไปอย่างมากและรวดเร็ว เมื่อโลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนตามให้ทัน การค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมหาศาล เนื้อหาตามหลักสูตรเดิมต้องได้รับการพิจารณาให้ปรับเปลี่ยน แล้วเติมเต็มด้วยวิทยาการความรู้ใหม่ ๆ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของ สสวท. ที่สร้างความเข้าใจของเด็กมากกว่าการท่องจำ

 

Q: เด็กยุคใหม่ เรียนยากกว่าสมัยที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เรียนใช่หรือไม่

A: ใช่และไม่ใช่
การเรียนการสอนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย เป็นความสัมพัทธ์ ในยุคที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เป็นเด็กจะคิดว่าเนื้อหาที่เราเรียนในสมัยนั้นว่ายากแล้ว พอมาเห็นเนื้อหาของเด็ก ๆ สมัยนี้ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ไม่เคยเรียนมาก่อน ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเพิ่มขึ้นอีก

แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่เติบโตมาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ต่างจากสมัยก่อน ดังนั้นความยากของสมัยก่อน กับความยากของเด็กยุคใหม่จึงแตกต่างกัน การจะบอกว่าอะไรยากอะไรง่ายจึงสัมพัทธ์กับโลกที่เปลี่ยนแปลง และศาสตร์ที่เปลี่ยนไปด้วย

Q: วิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และคณิตศาสตร์เป็นฐานสำคัญที่ทำให้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างไร

A: วิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะคณิตศาสตร์เป็นภาษาของวิทยาศาสตร์
พีระมิดในสมัยอียิปต์โบราณ ใช้คณิตศาสตร์ในการคำนวณจำนวนหินที่ต้องใช้ รวมถึงองศาในการจัดวาง เพื่อให้โครงสร้างสามารถตั้งอยู่ได้ ปัจจุบันการสร้างอาคารก็ต้องอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์เช่นกัน รวมทั้งใช้ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตวัสดุที่จะสามารถรองรับน้ำหนักของอาคารสูง รูปทรงต่าง ๆ ได้
คอมพิวเตอร์ เกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนในการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องใช้ความรู้ทางตรรกศาสตร์เป็นพื้นฐานการออกแบบ
นักธุรกิจ นักลงทุน ต้องอาศัยคณิตศาสตร์ในการบริหารจัดการองค์กร วิเคราะห์แนวโน้มและความเป็นไปได้ในการลงทุนต่าง ๆ
แม้กระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การคำนวณโมเดลการแพร่ระบาด ปริมาณการสั่งวัคซีน รูปแบบการกระจายวัคซีน การจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์อย่างทั่วถึง ล้วนแล้วแต่ต้องใช้คณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาทั้งสิ้น
การเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่เปลี่ยนที่วัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ หมดยุคของการเรียนแบบท่องจำเพื่อทำข้อสอบเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเด็กจะต้องสามารถเลือกใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ได้เรียนมา เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้

Q: วิธีการสอนแบบใด ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถนำวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหาได้

A: วิธีการซ่อนอยู่ในกระบวนการสอน เด็กจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร ครูจะบอกไปตรง ๆ หรือครูจะนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากระตุ้นให้เด็กได้ใช้เวลาลองคิดหาวิธีการแก้ปัญหา แล้วเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาในหนังสือเรียนที่เป็นเพียงตัวชี้นำให้ครูทราบว่าเด็กควรจะเรียนรู้เรื่องนี้ในช่วงวัยนี้เท่านั้น เพราะการเรียนรู้สำคัญกว่าตัวความรู้ เมื่อเด็กได้เรียนรู้ เด็กจะประสบความสำเร็จอย่างมากและจะจดจำได้แบบไม่ลืม
กระบวนการสอนในรูปแบบข้างต้นถูกละเลยมานาน เพราะวิธีการวัดผลของเด็กไทย มักเน้นว่าใครทำคะแนนได้สูง ได้เกรดดี ถือว่าเก่ง แต่ไม่ได้วัดว่าหลังจากเด็กได้เรียนรู้เรื่องนี้แล้วสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาจริงได้หรือไม่
สสวท. พยายามผลักดันกระบวนการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ จึงอาสาทำข้อสอบ TCAS เพราะ สสวท. เห็นว่าการเปลี่ยนวิธีการวัดผลจะย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียน
เด็กต้องการที่จะสอบได้คะแนนสูงใช่หรือไม่ ถ้าใช่เด็กต้องคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้ รู้ว่าจะนำวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่เรียนมาใช้ในจังหวะไหน สถานการณ์ไหน ดังนั้นข้อสอบจึงเป็นข้อสอบเชิงสถานการณ์ ไม่ใช่การถามความจำแบบที่เคยเป็น
การร่วมมือกับ ทปอ. ในการออกข้อสอบ PAT1 PAT2 และ วิชาสามัญ เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เด็กรู้ว่าวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริง ตอบคำถามที่ว่าเรียนเรื่องนี้ไปทำไม เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนแบบท่องจำอีกต่อไป เพราะในข้อสอบมีข้อมูลที่จำเป็นไว้ให้แล้ว หลายคนมักถามว่าทำไมโจทย์ในข้อสอบจึงยาว นั่นก็เพราะ สสวท. อยากอธิบายสถานการณ์เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเด็ก ที่มีข้อมูลเข้ามาหลากหลายทิศทาง เมื่อมีสถานการณ์ครบถ้วนเด็กจึงแปลสถานการณ์ที่โจทย์ให้แล้วเลือกวิธีการและความรู้ที่เรียนมาแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นี่ล่ะคือคำตอบที่ใคร ๆ มักถามเสมอว่า “แนวข้อสอบของ สสวท. เป็นอย่างไร” ซึ่งผลตอบรับจากคุณครูหลายท่าน ให้ feedback กลับมาในแนวทางเดียวกันว่าเด็กใส่ใจการเรียนมากขึ้นไม่เน้นเรื่องของการฝึกทำข้อสอบอย่างเดียว

Project 14 โครงการลำดับที่ 14 ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ สสวท. จากทั้งหมด 25 โครงการ

เริ่มแรกโครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบสื่อใหม่แห่งอนาคตที่เน้นการเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก ผ่านสถานการณ์ตัวอย่าง การสาธิตการทดลอง สื่อแอนิเมชัน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ระหว่างการดำเนินการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ สสวท. จึงระดมทีมนักวิชาการเร่งจัดทำสื่อภายใต้โครงการ Project 14 จนครบทุกวิชา ทุกชั้นปี ทุกบท จากหนังสือเรียน 120 เล่ม ของ สสวท. ในรูปแบบคลิปวิดีโอมากกว่า 2,000 คลิป เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ https://proj14.ipst.ac.th เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจากที่บ้านได้ รวมทั้งครูสามารถนำไปใช้เตรียมการสอนหรือประยุกต์ใช้ในห้องเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยทบทวนบทเรียนหรือร่วมเรียนไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้ และเป็นรากฐานการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต
สสวท. มุ่งเน้นพัฒนาสื่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กเรียนได้อย่างเข้าใจ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ นำมาใช้ได้จริง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เด็กจะสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องท่องจำแบบเดิม ๆ จากนี้การเรียนรู้จะมีความหมาย เด็กจะไม่ได้มีเพียงแต่ความรู้ เด็กจะมีทักษะ สามารถนำเอาความรู้ที่เรียนมาแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งได้จริง เด็กจะกระหายที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาและต่อยอดความรู้ให้กับตนเอง เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

Q: ทำอย่างไรให้เด็กสนใจ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

A: ทำให้เป็นเรื่องสนุก ง่าย ไม่น่าเบื่อ เด็กจะได้ไม่สร้างกำแพงปิดกั้นความสนใจตั้งแต่ต้น
เราควรปูพื้นฐานตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ อย่าง ป.1 โดยให้คุณครูที่มีความเข้าใจและมีพื้นฐานวิทย์ คณิต ที่แข็งแรงเป็นผู้สอน ปัจจุบันประเทศไทยมักชอบนำครูกลุ่มนี้มาสอน ม.ปลาย ซึ่งกว่าเด็กจะเรียนมาถึงระดับนี้ก็สายเกินไปเสียแล้ว
ครูต้องทำความเข้าใจว่าเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ มีความสนใจเรื่องอะไร ค่อย ๆ สอนไปทีละเรื่อง หยิบยกเรื่องรอบตัวนั้นมาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เมื่อครูช่วยจุดประกาย สร้างแรงจูงใจได้แล้ว เด็กจะเริ่มอยากรู้อยากเห็นและสนุกกับสิ่งนั้น จากนั้นจึงต่อยอดพัฒนาในระดับชั้นที๋โตขึ้น เราไม่ควรปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กด้วยการกดดัน หรือมอบหมายว่าต้องทำคะแนนได้เท่านั้นเท่านี้ พอเด็กทำไม่ได้ก็จะรู้สึกเกลียด และสร้างกำแพงในจิตใจขึ้น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีก็จะกลายเป็นยาขมของเด็กนั่นเอง


📻 รับฟังบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/e25d_ryDQjs


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content