สสวท. เผยแพร่รายงานประจำปี 2564 ฉบับออนไลน์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำหนังสือรายงานประจำปี 2564 หัวข้อ “IPST Go Digital” สู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้วิถีใหม่ โดยแสดงผลงานของ สสวท. ปี 2564 แผนการดำเนินงาน ปี 2564  รายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงิน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีที่กำกับดูแล และคณะรัฐมนตรีรับทราบตามระยะเวลาที่กำหนด

เนื้อหาสำคัญของรายงานฯ ได้แก่ ประวัติความเป็นมา และข้อมูลเกี่ยวกับ สสวท. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  ผลงานเด่น รางวัลที่ สสวท. ได้รับ ผลการดำเนินงาน แผนยุทธศาสตร์ รายงานการประเมินภารกิจหลักขององค์กร รายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงิน

จุดเด่นของรายงานประจำปี 2564 คือ การนำเสนอเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของ สสวท. ตามมาตรการของรัฐบาล และเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานเป็นรูปแบบออนไลน์ ตามนโยบาย “IPST Go Digital”  ซึ่ง สสวท. ได้ปรับตัวก้าวทันวิถีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงผ่านกลยุทธ์แก้ปัญหาเชิงรุก  มุ่งเป้าแก้ปัญหา  ลดข้อจำกัด บรรเทาความเดือดร้อนของครูและนักเรียนให้มีช่องทางเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการบริหารเนื้อหา สื่อ การอบรมครู ที่สนองตอบความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Technology Disruption) ปรับรูปแบบการอบรมครูออนไลน์ จัดค่ายออนไลน์ ประชุมวิชาการออนไลน์ รวมทั้งบริหารจัดการภายในแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน Work From Home เต็มรูปแบบ 

สรุปผลการดำเนินงาน สสวท. ปี 2564 ในรายงานประจำปี 2564

1. การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ

1.1 พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและกระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยได้พัฒนาสื่อประกอบหนังสือเรียนและคู่มือครู สื่อเสริมการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เน้นรูปแบบดิจิทัล ตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ วีดิทัศน์ e-poster แอนิเมชัน อินเทอร์แอ็กทีฟซิมูเลชัน เกมกระดาน เกมออนไลน์ สื่อเสมือนจริง (Augmented Reality: AR) แหล่งเรียนรู้เสมือนจริง สื่อ 65 พรรษา บทเรียนออนไลน์สำหรับนำเข้าระบบ LMS (Learning Management System) สื่อวีดิทัศน์การสอนออนไลน์ Project 14 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ รวม 516 รายการ

1.2 พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและกระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเป็นระบบและสามารถนำไปใช้ศึกษาต่อเป็นนักนวัตกรตามแนวทาง KOSEN โดย สสวท. ร่วมกับ สพฐ. และ National Institute of Technology (NIT หรือสถาบัน  โคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น) จัดตั้งและดำเนินการ KOSEN Education Center (KEC) มีผู้เข้ารับการอบรม 154 คน และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง

1.3 พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและกระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ สำหรับพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ โดยได้จัดทำหลักสูตรโปรแกรมเสริมเข้มข้น 8 รายการ และพัฒนานักเรียนผ่านโปรแกรมเสริมเข้มข้นในรูปแบบออนไลน์และจัดการเรียนการสอนด้วยกิจกรรมคณิตศาสตร์กับการแก้ปัญหา 330 คน จัดทำกิจกรรมและหลักสูตรโปรแกรมเสริม พสวท. จัดทำชุดพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ และพัฒนาหลักสูตรอบรมครู 3 หลักสูตร

1.4 วิจัย วัดผล และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้แก่ การประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยได้จัดทำรายงานผลการประเมินและรายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับ PISA 2018 รวม 6 เรื่อง เตรียมจัดสอบ PISA 2022 และเข้าร่วมการประชุม 3 ครั้ง  และการพัฒนาเครื่องมือวัดผลประเมินผลด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยได้จัดทำกรอบการประเมินและเครื่องมือประเมินสำหรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  จำนวน 12 ฉบับ 

1.5 วิจัยติดตามการใช้หลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และพัฒนาเกณฑ์การประเมินสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้ติดตามการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ระยะที่ 3 จากกลุ่มตัวอย่าง 34,104 โรงเรียน และจัดทำรายงานการวิจัย

2. การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านเครือข่าย สสวท. ให้้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ

2.1 พัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่าย เพื่อขยายการให้บริการหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. โดยได้เปิดให้บริการระบบฐานข้อมูลเครือข่ายทางการศึกษา สสวท. ประกอบด้วยข้อมูลโรงเรียน มหาวิทยาลัย บุคลากรทางการศึกษา ศูนย์ประสานงาน และหน่วยงานทางการศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งกิจกรรมของ สสวท. 8,842 รายการ และจัดทำคู่มือการใช้งานระบบฐานข้อมูลเครือข่าย

2.2 พัฒนาศักยภาพครูแกนนำและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อขยายผลการให้บริการวิชาการด้านหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. ได้แก่ พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ส่งเสริมสมรรถนะการคิดขั้นสูง โดยได้พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีผู้เข้ารับการอบรม 1,020 คน พัฒนาครูผู้สอนวิชาเคมีโดยมุ่งเน้นพัฒนาครูแกนนำ สควค. โดยได้พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูผู้สอนวิชาชีววิทยา โดยมุ่งเน้นพัฒนาครูแกนนำ สควค. โดยได้พัฒนาบทเรียนเสริมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ 1 บทเรียน และพัฒนาครูโดยมีผู้เข้ารับการอบรม 68 คน พัฒนาครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์โดยมุ่งเน้นการพัฒนาครูแกนนำ สควค. โดยได้พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูแกนนำวิชาฟิสิกส์ มีผู้เข้ารับการอบรม 82 คน และพัฒนาครูสู่การเป็นผู้ช่วยวิทยากรอบรมขยายผลซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรม 74 คน พัฒนาครูผู้สอนวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาครูแกนนำ สควค. มีผู้เข้ารับการอบรม 31 คน และสนับสนุนการอบรมครูผ่านเครือข่าย ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 671 คน และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี 45 คน

2.3 การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษาตามแนวทาง สสวท. ได้แก่

  • 2.3.1 พัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพด้วยการจัดประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา โดยบูรณาการกับ 4 หน่วยงาน  โดยได้พัฒนาหลักสูตรอบรมครูรูปแบบออนไลน์ 10 หลักสูตร จัดทำคู่มือการอบรมครูและหนังสือกิจกรรมประกอบการอบรมครู จัดอบรมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร (กทม.) ทางออนไลน์ มีผู้เข้ารับการอบรม 44,939 คน นอกจากนั้นยังได้ประเมินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครูหลังการอบรมในระยะที่ 1 และจัดทำสรุปการประเมินติดตามผล
  •  2.3.2 ศึกษาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้จัดเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ให้แก่นักวิชาการ สสวท. และบุคลากรทางการศึกษา 230 คน สร้างเครือข่ายความร่วมมือ 7 เครือข่าย และจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The International Joint Conference on STEM Education (IJCSE 2020) ร่วมกับหน่วยงานจากประเทศอินโดนีเซีย ในหัวข้อ “STEM Education Pathway through the Crisis” มีผู้เข้าร่วมงาน 327 คน
  • 2.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวทาง สสวท. โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 4,880 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมโครงการ 1,712 คน ผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและผลงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 332 ชิ้น จัดทำหนังสือเรียนแบบสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ คู่มือครู และสื่อวีดิทัศน์ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินงาน 25 หน่วยงาน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งจัดอบรมครูในกิจกรรมการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและประถมศึกษาตอนปลาย
  • 2.3.4 พัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้อบรมการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ให้แก่ครูผู้สอนโรงเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 435 คน และสนับสนุนและจัดส่งสื่ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า (หลัก 67) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • 2.3.5 พัฒนาครูในโรงเรียนวังไกลกังวลและโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยได้ปรับปรุงชุดการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ หรือสื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 45 เล่ม พัฒนาชุดการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 8 ชุด และอบรมครูโรงเรียนวังไกลกังวล 24 คน
  • 2.3.6 พัฒนาครูแกนนำและบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยเพื่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวโครงการพระราชดำริบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยและแนวทางสะเต็มศึกษา โดยได้จัดสัมมนาวิชาการครบรอบ 10 ปี “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน” ทางออนไลน์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงงานและกิจกรรมด้วยรูปแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมอบรมและชมไลฟ์สดกว่า 1,200 คน มีวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นและครูปฐมวัยเข้ารับการอบรม 1,187 คน มีโครงงานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยผ่านการคัดเลือก 247 โครงงาน และจัดอบรมครูปฐมวัยจากโรงเรียน ตชด. ด้วยระบบออนไลน์ มีผู้เข้ารับการอบรม 251 คน

2.4 ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สสวท. ได้วิจัยและส่งเสริมการใช้หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง และการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา 87 รายการ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบประชุมทางไกลและผ่านระบบอบรมครูของ สสวท. 346,793 คน นอกจากนั้นยังได้พัฒนาชุดการเรียนรู้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ 3 หลักสูตร

2.5 ยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนคุณภาพ SMT ตามมาตรฐาน สสวท.) ได้แก่

  •  2.5.1 ยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ (1) จังหวัดหนองคาย โดยพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนแบบออนไลน์ 361 คน ติดตามหนุนเสริมด้วยกระบวนการ PLC แบบออนไลน์ให้แก่ครู 94 คน (2) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนประถมศึกษา 270 คนจาก 23 โรงเรียน นิเทศติดตามผลในโรงเรียน วิจัยประเมินผลการดำเนินงาน  และสนับสนุนชุดสื่ออุปกรณ์ให้โรงเรียนในโครงการ (3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 25 โรงเรียน พัฒนาครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกระดับชั้น 103 คน และจัดประชุมนำเสนอผลงานของผู้เขาอบรมทางออนไลน์
  • 2.5.2 พัฒนาโรงเรียนต้นแบบ 2 โรงเรียน ได้แก่ (1) พัฒนาการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะโรงเรียนปทุมคงคา โดยได้พัฒนาหลักสูตรสุภาพบุรุษปทุมคงคาเป็นหลักสูตร “สุภาพบุรุษปทุมคงคาฐานสมรรถนะ” พัฒนาครู 14 คน เป็นวิทยากรแกนนำขยายผลให้กับครูโรงเรียนปทุมคงคา สร้างแผนการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ จัดทำวีดิทัศน์ 7 เรื่อง และทดลองนำหลักสูตรไปจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (2) พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในโรงเรียนดาราคาม โดยได้พัฒนาครูเรื่องการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสนับสนุนสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้
  • 2.5.3 ยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้จัดอบรมผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนคุณภาพฯ เพื่อเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ด้วยระบบออนไลน์ มีผู้เข้ารับการอบรม 190 คน ประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อนำเสนอผลงานการบูรณาการแนวคิดสู่แนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนคุณภาพฯ มีโรงเรียนส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือก 190 โรงเรียน มีผู้เข้าร่วมประชุม 10,006 คน อบรมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของโครงการโรงเรียนคุณภาพฯ ได้แก่ (1) อบรมหลักสูตรที่ใช้งบประมาณของโครงการโรงเรียนคุณภาพฯ มีผู้เข้ารับการอบรม 2,882 คน และ (2) อบรมหลักสูตรที่ใช้งบประมาณร่วมกับโครงการพัฒนาวิทยากรแกนนำของ สสวท. มี ผู้เข้ารับการอบรม 314 คน นอกจากนั้นยังได้วิจัยศึกษารูปแบบการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งวิจัยและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ        

2.6 เพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โดยได้พัฒนาครูด้วยหลักสูตรอบรมการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 194 หลักสูตร (รุ่น) มีผู้เข้ารับการอบรม 16,353 คน และติดตามผลการจัดการเรียนรู้ของครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่

  • (1) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ 28 โรงเรียน มีผู้เข้ารับการอบรม 355 คน
  • (2) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยองและจังหวัด ศรีสะเกษ 58 โรงเรียน มีผู้เข้ารับการอบรม 151 คน
  • (3) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี โดยจัดกิจกรรม STEM Applied Learning Programme หรือ STEM ALP ให้กับ 2 โรงเรียน และจัดเตรียมแผนการดำเนินกิจกรรม STEM ALP เพื่อขยายผลกับอีก 4 โรงเรียน และ
  • (4) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และดำเนินโครงการใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งวิจัย ติดตาม และประเมินผลโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

3. การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบ ตามแนวทาง สสวท.

  • 3.1 พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้  ได้แก่ พัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ (Learning Management System) โดยพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ My IPST 1 ระบบ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ https://myipst.ipst.ac.th ทดลองใช้ระบบ My IPST กับครูในโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน และพัฒนาระบบต่าง ๆ อีก 4 ระบบ รวมทั้งพัฒนาและขยายบริการของศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (IPST Learning Space) โดยพบว่าปี 2564  มีปริมาณการใช้งานระบบต่าง ๆ (Sessions) 23,200,490 ราย
  • 3.2 พัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องมือในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามแนวทาง สสวท. (Science and Mathematics Literacy) โดยได้จัดทำกรอบการสร้างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 6 ฉบับ ต้นฉบับข้อสอบ TCAS 64 จำนวน 12 ฉบับ ต้นร่างข้อสอบ TCAS 65 จำนวน 12 ฉบับ และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบที่คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564

4. การเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0

  • 4.1 บริหารการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยได้พัฒนาโปรแกรมเสริมให้กับผู้รับทุนโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สนับสนุนครู สควค. เข้าร่วมการประชุมวิชาการ 118 คน ติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้รับทุนโครงการ สควค. ระดับปริญญาโท ประเภท Premium และประเภท Super Premium ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย และเสนอแผนการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 พ.ศ. 2564-2567 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 แล้ว
  • 4.2 บริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยได้คัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาเข้าโครงการ พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 35 ทุน และระดับอุดมศึกษา 64 ทุน จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสำหรับนักเรียน ครั้งที่ 2 และประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 36 โดยมีผู้เข้าร่วมงานและนำเสนอผลงานวิจัย 227 ผลงาน จัดค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน สำหรับนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2563 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 47 คน จัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2564 มีผู้นำเสนอผลงานวิจัย 164 ผลงาน จัดค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน สำหรับนิสิต นักศึกษาทุน พสวท. ชั้นปีที่ 1-2  สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับบัณฑิต พสวท. แรกบรรจุ และส่งเสริมบัณฑิตทุน พสวท. ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานภาคเอกชน
  • 4.3 โอลิมปิกวิชาการ โดยร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มีนักเรียนสนใจสมัครเข้าโครงการ 108,024 คน คัดเลือกและจัดอบรมให้กับนักเรียน โดยได้ผู้แทนประเทศไทย 23 คน ในวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ พร้อมทั้งจัดส่งผู้แทนประเทศไทยดังกล่าวเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 20 คน และคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 8 คน และอบรมครูผู้สอนคณิตศาสตร์จากโรงเรียนที่เป็นศูนย์ สอวน. ค่าย 1 วิชาคณิตศาสตร์ 77 คน
  • 4.4 พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้คัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนทั่วประเทศสมัครสอบ 138,301 คน ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ 2,114 คน และได้รับคัดเลือกรับเหรียญรางวัล 263 คน จัดส่งชุดอุปกรณ์ประกอบการทำกิจกรรมและจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ สนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียนที่เป็นศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพฯ 28 โรงเรียน และจัดอบรมครูศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพฯ 343 คน
  • 4.5 สนับสนุนทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษา และครู เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทุน พสวท. 1,605 ทุน ทุน สควค. 13 ทุน ทุนโอลิมปิกวิชาการ 186 ทุน
  • 4.6 ขยายฐานการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่แผนการพัฒนากำลังคน ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยได้คัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ) ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 224 คน ส่งเสริมศักยภาพและคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอผลงานโครงงานทั้งในระดับภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ 665 คน ผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ

5. การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้้ทันสมัย

  • 5.1 พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตามกลุ่มงานอย่างเป็นระบบ โดยได้จัดทำแผนพัฒนาองค์กรและบุคลากรแบบก้าวกระโดดเพื่อไปสู่การเป็นองค์กร 4.0 และพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน และจัดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความผูกพันของพนักงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ 327 คน
  • 5.2 พัฒนาการบริหารจัดการ สสวท. ทุกมิติให้มีมาตรฐานเทียบเคียงเกณฑ์ TQA โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ได้ประเมินองค์กรตามกรอบการประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ พัฒนาการบริหารจัดการเพื่อให้ สสวท. เป็นองค์การแห่งคุณภาพ (PMQA) บริหารจัดการความรู้จากองค์ความรู้ของพนักงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน และเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)
  • 5.3 พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขยายขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร และการบริการในรูปแบบดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล โดยได้บำรุงรักษาระบบสารสนเทศ  21 ระบบ พัฒนาและบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร รวมทั้งพัฒนาสำนักงานดิจิทัลให้มีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
  •  5.4 ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทำงานของ สสวท. และสร้างความตระหนักรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้จัดทำเนื้อหาและสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ 682 ชิ้น ซึ่งมีการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมายรวม 18,840,454 Reach จัดทำข่าวสารเผยแพร่สื่อมวลชน 213 ชิ้น มูลค่าข่าวเผยแพร่ได้ 87,362,198 บาท จัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ในหัวข้อ “สุขภาพที่ดีขึ้นจากความเข้าใจที่มากขึ้น” (Better Health Through Better Understanding) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมงาน 676,515 คน จัดทำนิตยสาร สสวท. 6 ฉบับ นอกจากนั้น สสวท. ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 24 รูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อทักษะในศตวรรษที่ 21” (Learning Innovation for 21st Century Skills) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการงาน วทร. 24 รวม 19,508 คน

ผู้สนใจอ่านรายงานฯ ฉบับออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ สสวท. : http://www.ipst.ac.th/about-us


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content