
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงาน “สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ Coding” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของ ศธ. ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ลานกิจกรรมชั้น G (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center
งานนี้มีผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เข้าร่วมงานประกอบด้วย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายปรีดี ภูสีน้ำ ผู้ตรวจราชการ ศธ., รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ผู้บริหาร ศธ., ผู้บริหารสถานศึกษา, ครู, นักเรียน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานจำนวนมาก จัดระหว่างวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ลานกิจกรรมชั้น G (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center
โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า งานสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ Coding เป็นการประกาศให้สังคมทราบว่า ศธ. ตระหนักถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่ต้องเน้น คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กพร้อมอยู่ใน VUCA World ที่มีความผันผวนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำการจัดการศึกษา Coding เข้ามาสู่หลักสูตรตั้งแต่ปี 2562 ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาได้เรียน เพื่อให้เด็กมีเหตุมีผล พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ โดยเป็นการจัดการเรียนรู้แบบไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) ไม่ต้องลงทุน เป็นการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็ก ที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน
รวมไปจนถึงการบรรยายเสวนาพิเศษแลกเปลี่ยนมุมมองการศึกษาไทยในยุค VUCA World โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ตลอดจนการแสดงของศิลปินและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน
ทั้นี้ภายในงานยังมีบูธกิจกรรม นิทรรศการต่าง ๆ น่าสนใจ สำหรับผู้มาร่วมงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Coding ประกอบด้วยนิทรรศการความก้าวหน้าจากโรงเรียนต่าง ๆ Unplugged Coding จากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล อัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ประวัติศาสตร์ ทรงไม่แบด เรียนไม่เบื่อ วิทยาศาสตร์พลังสิบ การศึกษาพิเศษ การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ และบูธกิจกรรมของ สสวท. อีกด้วย
ซึ่ง สสวท. ยังได้จัดบูธกิจกรรมให้เยาวชนได้ร่วมสนุกพิชิตปัญหาลุ้นรางวัลกับ บอร์ดเกมสร้างพลังเรียนรู้ทั้ง unplugged และ Food web เกม “ชิม ชอป แชะ” เกมเสริมความรู้ตามหนังสือเรียนวิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ของ สสวท. กิจกรรม Unplugged CODING สร้างทักษะการแก้ปัญหา ระดับมัธยมศึกษา เกมดอกไม้แห่งสยามที่ส่งเสริมทักษะนักคิดนักวางแผน เกมคณิตศาสตร์ และนานาเกมส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนโดยต่อเนื่อง





















รายละเอียดเพิ่มที่ : https://moe360.blog/2023/02/25/25022566/