ลัดฟ้าสู่ฮังการี 4 เยาวชนไทย คอมพิวเตอร์โอลิมปิกเวทีสร้างนักคิด นักแก้ปัญหา

เดินหน้ามาแล้ว 4 วิชา และเดินหน้าต่อไปสำหรับการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันแล้ว 4 วิชา คือ ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี  โดยมีคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเป็นน้องนุชสุดท้อง โดยปีนี้สามารถคว้าชัยได้ 2 เหรียญทองแดง 2 เกียรติบัตร

ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คนที่เข้าร่วมคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 4 กันยายน 2566 ณ เมืองเซเกด สาธารณรัฐฮังการี ครั้งนี้ประกอบด้วยนายธีธัช ธำรงลักษณ์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ นายปุณณพัฒน์ ศรีรอด โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ นายภัครินทร์ ลีไตรรงค์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และนายภัทรกร สุทธจรรยา โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย

สำหรับคณะอาจารย์ผู้ดูแลทีมประกอบด้วยผศ.ดร.นัทที นิภานันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม ดร.พิชญะ สิทธีอมร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม ดร.ธนะ วัฒนวารุณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม  อาจารย์วาโย ปุยะติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ช่วยหัวหน้าทีม และ นายจักรพรรดิ สุวรรณกูฏ สสวท. ผู้จัดการทีม

คอมพิวเตอร์โอลิมปิกเป็นการแข่งขันทางวิชาการที่ให้นักเรียนได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยใช้พื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกับกระบวนการคิด วิเคราะห์ เพื่อออกแบบกระบวนการและขั้นตอนวิธีแล้วเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก้ปัญหาโจทย์

สร้างนักคิด นักแก้ปัญหา ด้วยวิชาการผสานทักษะกระบวนการ ต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนพัฒนาอนาคตจึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกวัยร่วมส่งกำลังใจให้ทีมนักเรียนไทยแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ในเวทีระดับโลก

 ย้อนทบทวนกันสักนิด ปีนี้เราเปิดประเดิมกันด้วยชีววิทยาโอลิมปิกซึ่งผู้แทนประเทศไทยสามารถคว้า 4 เหรียญเงิน จากการแข่งขันที่เมืองอัล อาอิน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันที่ 3 – 11 กรกฎาคม 2566 ด้วยฝีมือของนายวิภู เศรษฐวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ  นายธนกฤต ธนสารสาคร และ นางสาวณภัทร ตันติประภาส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ  นายสิรวิชญ์ ศรีบุญเจริญชัย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน 302 คน จาก 76 ประเทศ 

ตามติดมาด้วยคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 3 – 13 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนประเทศไทยสามารถทำได้ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง 1 เกียรติคุณประกาศ จากฝีมือของนายทยากร  สุวานิช โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญทอง  นายวรวัฒน์ รุ่งอร่ามศิลป์ นายพัฒนแสง พินิจพิชิตกุล และนายนิธิวิทย์ ศิริมาลัยสุวรรณ 3 นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ  คว้าเหรียญเงิน นายธรรมรักษ์ กอสกุลธรรม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญทองแดง และ นายสิรวิชญ์ พิพิธธนาบรรพ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม เกียรติคุณประกาศ  มีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน 112 ประเทศ จำนวน 618 คน 

ส่วนฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศปีนี้ มีนักเรียนจาก 82 ประเทศ จำนวน 394 คนเข้าร่วมการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 10 – 17 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทีมนักเรียนไทยสามารถพิชิต 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากฝีมือของนายณัฏฐ์เดช เผด็จสุวันนุกูล โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ เหรียญทอง นายธนัชสรศ์ จันทรเกษมสัตย์ และ นายภัทรพล พันธ์เลิศระพี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ คว้าเหรียญเงิน  นายธงไชย อาชาบุณยเสก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญทองแดง และ นายนพรุจ สอดศรี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง เหรียญทองแดง   

และปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 16 – 25 กรกฎาคม 2566 ผู้แทนประเทศไทยเคมีโอลิมปิกก็กวาด 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากสมาพันธรัฐสวิส โดยมีนายจิรโรจน์ ชวนะสุนทรพจน์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายมัธยม) คว้าเหรียญทอง นายคณิศร กีรติพงษ์  และนายพีรดนย์ แซ่จึง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม เหรียญเงิน  นางสาวอมาษญา เลี้ยงบำรุง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญทองแดง

การแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ไม่เพียงสร้างบรรยากาศทางวิชาการและกระตุ้น ให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการเรียนการสอนและศักยภาพเยาวชนไทยที่มีความสามารถสูง เพื่อเปล่งประกายสร้างอนาคตของประเทศอีกด้วย

          ติดตามข่าวสารเด็กไทยเวทีโอลิมปิกวิชาการที่เฟซบุ๊ก Olympic IPST โครงการโอลิมปิกวิชาการ สสวท. https://www.facebook.com/Olympic-ipst-486688764733943/


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content