หนุนใช้ผลประเมิน PISA 2022 ให้เป็นประโยชน์ เร่งพัฒนาสมรรถนะครูจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะสำหรับอนาคต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลการประเมิน PISA 2022 ได้เผยแพร่เป็นที่ทราบพร้อมกันทั่วโลกแล้ว ซึ่งเป็นผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง จากผลการประเมินในภาพรวมดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาทั่วโลกที่มีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 อันเป็นผลกระทบจากการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องฝ่าวิกฤตโควิด-19

PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยเน้นประเมินสมรรถนะของนักเรียนในการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมิน PISA 2022 จาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าผลการประเมิน PISA 2022 ครั้งนี้ นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งคะแนนเฉลี่ยลดลงทั้งสามด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ PISA 2018 (คะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน  17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ) ขณะเดียวกันก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ทั้งสามด้านอีกด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มผลประเมินของไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านล้วนมีแนวโน้มที่ลดลง แต่สำหรับด้านวิทยาศาสตร์ถ้ามองในเชิงสถิติก็ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลง

ผลประเมินนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ส่งสัญญาณให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมมือกันหาแนวทางในการพัฒนาเพื่อเร่งยกระดับสมรรถนะนักเรียนไทยให้แข่งขันได้ในโลกอนาคต

ด้วยเหตุนี้การวิเคราะห์ผลการประเมิน PISA จึงเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้วางแผนแนวทางดำเนินงานยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในชีวิตจริง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบโปรแกรมนี้ของประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น “นักเรียนกลุ่มช้างเผือก” ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ  แต่กลับสามารถทำคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศได้ โดยประเทศเรามีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 15% ในขณะที่ประเทศ OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่เพียง 10%

บ่งชี้ว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้

สำหรับกลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก

ขณะเดียวกันเมื่อมองกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้วย ในขณะที่กลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

ข้อค้นพบที่ PISA 2022 บอกกับเราเหล่านี้ เป็นข้อมูลสำคัญที่ควรนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนแก้ไข เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ได้ผลอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น จึงควรมีมาตรการยกระดับการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ด้วยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นทักษะของการเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21

สนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้โรงเรียนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพอย่างครอบคลุมทุกสังกัด

หากใช้ข้อมูลผลวิเคราะห์จากการประเมิน PISA ให้เป็นประโยชน์ ภายใต้มาตรการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง เดินหน้าด้วยแผนงานและทิศทางที่ชัดเจนต่อเนื่อง ในระยะต่อไปเราก็น่าจะได้เห็นผลการประเมิน PISA 2025 ของนักเรียนไทยส่งสัญญาณที่ดีขึ้น

ดูรายละเอียดผลประเมิน PISA 2022 และศึกษาข้อมูลได้ที่ https://pisathailand.ipst.ac.th


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content