สสวท. จัดการประชุมจัดทำเอกสารโครงสร้างรายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาหาร และรายวิชาผู้ประกอบการสมัยใหม่ เพื่อสะสมหน่วยกิตและพัฒนาครูตามมาตรฐานของ สสวท.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยฝ่ายบริหารโครงการริเริ่มและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ได้จัดการประชุมจัดทำเอกสารโครงสร้างรายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาหาร และรายวิชาผู้ประกอบการสมัยใหม่ เพื่อสะสมหน่วยกิตและพัฒนาครูตามมาตรฐานของ สสวท. ภายใต้โครงการการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการศึกษาเพื่อหนุนเสริมและพัฒนาสมรรถนะของครูและผู้เรียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สสวท. กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 (สพม.กท2) ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องปทุมวัน ชั้น 2 โรงแรมเอเซีย ราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการจากโรงเรียนพรตพิทยพยัต โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)๔  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สุวินทวงศ์ โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก และโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง เข้าร่วมการประชุม

 กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการศึกษาเพื่อหนุนเสริมและพัฒนาสมรรถนะของครูและผู้เรียน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการ 1) สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะในการทำงานตามความต้องผู้ประกอบการ 2) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัยในพื้นที่และผู้ประกอบการ และ 3) เพื่อสร้างภาวะผู้นำทางวิชาการให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษา โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในการทำงาน ตลอดจนสมรรถนะการเป็นผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ โดยส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการ อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนากลไกการจัดหลักสูตรที่สามารถลดระยะเวลาเรียนโดยใช้กลไกการสะสมหน่วยการเรียนที่สอดคล้องกับรูปแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ระหว่างโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

สำหรับการประชุมจัดทำเอกสารโครงสร้างรายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาหาร และรายวิชาผู้ประกอบการสมัยใหม่ เพื่อสะสมหน่วยกิตและพัฒนาครูตามมาตรฐานของ สสวท. เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำรายวิชาเพื่อสะสมหน่วยกิตและพัฒนาครูตามมาตรฐาน สสวท.  ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการศึกษาเพื่อหนุนเสริมและพัฒนาสมรรถนะของครูและผู้เรียน โรงเรียนสังกัด สพม.กท2 ที่ สสวท. ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเดอไพร์ม รางน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีนักวิชาการ สสวท. ผู้บริหารและคณาจารย์จาก สจล. คณะศึกษานิเทศก์ จาก สพม.กท2 และผู้บริหาร หัวหน้างานวิชาการจากโรงเรียนทั้ง 5 โรงเรียนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งได้มีการร่วมกันวางแผนและออกแบบแนวทางการดำเนินงานจัดหลักสูตรเพื่อสะสมหน่วยกิตและจัดทำรายวิชาเรียนร่วม โดยในที่ประชุมมีข้อสรุปให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาหาร และรายวิชาผู้ประกอบการสมัยใหม่ เป็นรายวิชานำร่องสำหรับการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางดังกล่าว จากนั้น สสวท. ร่วมกับ สจล. ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้ครูผู้มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 2 รายวิชาร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากที่ครูผู้สอนและคณาจารย์จาก สจล. ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางการพัฒนารายวิชาทั้งในส่วนโครงสร้างเนื้อหาและรูปแบบการบริหารจัดการหลักสูตรแล้ว 

สสวท. จึงดำเนินการจัดการประชุมจัดทำเอกสารโครงสร้างรายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาหาร และรายวิชาผู้ประกอบการสมัยใหม่ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดคำอธิบายรายวิชา ออกแบบโครงสร้างหน่วยการเรียนรู้ ตลอดจนร่วมกันกำหนดรายละเอียดการบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในโรงเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สสวท. คาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้  

  1. ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้เป็นผู้ที่มีความรู้ คู่กับการมีความสามารถและมีความพร้อมในการทำงานในโลกอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
  2. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีการพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในการทำงาน ตลอดจนสมรรถนะการเป็นผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ สามารถบริหารจัดการหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เกิดนวัตกรรมกลไกความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้และการบริหารหลักสูตรในรูปแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) เพื่อการจัดหลักสูตรในลักษณะการเรียนร่วมและการสะสมหน่วยการเรียน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเรียนสำหรับผู้เรียน อีกทั้งจะเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกลไกธนาคารหน่วยกิตในระดับชาติ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
  4. ผู้บริหารและครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพเชิงวิชาชีพอย่างเข้มข้นร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา
  5. เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน สสวท. สถาบันอุดมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และผู้ประกอบการภาคเอกชน อย่างเป็นรูปธรรม

ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content