งานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในหัวข้อกิจกรรม “การผจญภัยในอวกาศ” โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีหลักที่ร่วมดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ทั้ง 8 หน่วยงาน ตลอดจนผู้ร่วมดำเนินงานประกอบด้วย หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย 12 เขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
งานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย มีจุดประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเปิดโอกาสให้วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นได้จัดกิจกรรมเพิ่มเติมให้กับเด็ก และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศในแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึ่งก่อนถึงวันจัดงานนั้น ทางคณะทำงานได้ร่วมกันเตรียมงานการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2567


งานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567 หัวข้อกิจกรรม การผจญภัยในอวกาศ วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ใจดีที่มาร่วมยินดีในงาน ในการกล่าวต้อนรับและเปิดงาน ประกอบด้วย
- นางขวัญตา ประสานสงฆ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 (ซ้าย)
- รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กลาง)
- ดร.กุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ขวา)



งานในวันนี้มีผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 394 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้ชำนาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ของ สสวท. วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย 12 เขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา วิทยากรภายนอกร่วมจัดกิจกรรม ผู้บริหาร ครู และเด็กใน จ.สงขลา ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติที่สนใจร่วมงาน
เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสนุกไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลก อวกาศ และดาราศาสตร์ ผ่านการทำกิจกรรม
ที่หลากหลาย ดังนี้
- ฐานที่ 1 การขับเคลื่อนของจรวด ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้เล่นกับลูกโป่ง ทำรถพลังลูกโป่ง และได้ใช้แรงของตนเองในการทำให้จรวดของเล่นเคลื่อนที่พร้อมสังเกตการเคลื่อนที่ของจรวดนั้น
- ฐานที่ 2 การชมภาพยนตร์วัตถุบนท้องฟ้า ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้ชมภาพยนตร์และเรียนรู้เกี่ยวกับ
การขึ้นตกของดาว ระบบสุริยะ และกลุ่มดาว - ฐานที่ 3 การฝึกท่องอวกาศ ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้ชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของนักบินอวกาศ และได้ทดสอบความสามารถของตนเองในการดำรงชีวิตแบบนักบินอวกาศผ่านการเล่นบทบาทสมมติ
- ฐานที่ 4 science show ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมและทดลองเกี่ยวกับแสง แรง และ
การเคลื่อนที่ สภาวะสุญญากาศ และสสารรอบตัว - ฐานที่ 5 ระบบสุริยะ ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้สังเกตและรู้จักระบบสุริยะ รวมทั้งได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเกี่ยวกับระบบสุริยะอีกด้วย
- และสุดท้ายฐานที่ 6 การเดินทางจากดวงอาทิตย์ไปยังดาวเนปจูน ในฐานนี้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสสังเกตการจัดเรียงของระบบสุริยะตั้งแต่ดวงอาทิตย์ไปยังดาวเนปจูน พร้อมทั้งได้สร้างแบบจำลองเส้นทางการเดินทางจากดวงอาทิตย์ไปยังดาวเนปจูน




งานในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมจัดงานและผู้สนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ
ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดงานวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567 ในหัวข้อกิจกรรม การผจญภัยในอวกาศ วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
- โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
- บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 12 เขตพื้นที่ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล)
- โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลา 15 โรงเรียน