
(วันที่ 4 กรกฎาคม 2567) รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา” กับ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนโยธี กรุงเทพฯ

ความร่วมมือนี้ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผู้สอน นักเรียน นักศึกษาทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มีกรอบการดำเนินงานดังนี้
- สร้างหลักสูตร AI ที่มีความเหมาะสมของผู้เรียน และผู้สอน ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียน ในแต่ละช่วงชั้น
- สร้างครูผู้สอนให้มีความรู้ทางด้าน AI และการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมของการสอนแต่ละช่วงชั้น
- สร้างมาตรฐานหลักสูตร AI เพื่อในไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials)
- พัฒนาโครงการนำร่อง ก่อนส่งเสริมให้เกิดการสอนเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
- ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เช่น แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ รวมทั้งจัดฝึกอบรม และสัมมนา ระหว่างบุคลากรของทั้งฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และฝ่ายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ศธ. มุ่งหวังว่า AI จะเป็นวิชานำร่องที่นักเรียนสามารถสะสมเป็นหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ตามประกาศที่จะออกในปีการศึกษา พ.ศ. 2567 อีกทั้งสอดรับกับนโยบาย อว. for AI ซึ่ง อว. มีเป้าหมายขับเคลื่อน AI 3 ด้าน อันได้แก่ 1. AI for Education: การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด 2. AI workforce development: การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI 3. AI innovation: การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด
