สสวท. ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนานักเรียนไทย โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมบางกอกชฏา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ มุ่งพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) โดยมี ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขากพฐ.) ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รศ. ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (มวส.) ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดี   แห่งประเทศไทย (ทปอ.) รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) และดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง

                    โดย ศ.ดร. ชูกิจ จำนงค์ กล่าวว่า  สสวท. มีบทบาทในการจัดทำมาตรฐานและหลักสูตรของโครงการฯ ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น โดยอบรมและพัฒนาครูร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเครือข่าย เพื่อพัฒนาครูผู้สอน พร้อมทั้งจะมีการวิจัยหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับสถานศึกษาในโครงการ ประกอบกับ มีการวิจัย บ่งชี้นักเรียนที่มีความสนใจพิเศษด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเป็นรายบุคคล  รวมทั้งจะประสานความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้  การพัฒนาครูและสะเต็มศึกษาสำหรับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มาร่วมหนุนเสริมโครงการอย่างเป็นระบบ ซึ่ง สสวท. มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนทุกคน

                    ประกอบกับมีหลักสูตรสำหรับพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ฯ ทุกระดับชั้น พร้อมทั้งมีหลักสูตรอบรมครูที่หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งมีระบบการอบรมครูผ่านออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับครูทุกคน และมีคลังเครื่องมือการวัดประเมินผลที่เทียบมาตรฐานสากล (PISA) และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ที่พร้อมจะนำไปส่งเสริม สนับสนุนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบต่อไป


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content