เดินหน้าโค้ดดิ้งปฏิรูปประเทศ นำโค้ดดิ้งสร้างงาน สร้างสังคมสงบสุข

รองนายกรัฐมนตรี “นายวิษณุ  เครืองาม” นำทีมประชุมคณะอนุกรรมการโค้ดดิ้งเพื่อการปฏิรูปประเทศ พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนทุกช่วงวัยอย่างเหมาะสม ผุดหลักสูตรโค้ดดิ้งสำหรับอาชีพที่ 2 หรือ เพื่อคนว่างงาน ตอบโจทย์ “สร้างความคิด พิชิตปัญหา พัฒนาตนเอง แก้ไขปัญหาสังคม” โดยเริ่มต้นด้วยการพัฒนาหลักสูตร Coding for Farm : การทำเกษตรกรรมแบบประณีตตามแนวพระราชดำริ เป็นหลักสูตรต้นแบบ และใช้  โค้ดดิ้งเสริมทักษะประชาชนผลักดันสู่ตลาดงานในศตวรรษที่ 21

          19 มีนาคม 2564 –  ศาสตราจารย์กิตติคุณวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ   เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการ Coding เพื่อการปฏิรูปประเทศ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครั้งที่ 1/2564 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ   ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบมีความคืบหน้าในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ และการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) การจัดตั้งกองทุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ  และการพัฒนาหลักสูตร “Coding สำหรับอาชีพที่ 2” เนื่องจากรัฐบาล  มีนโยบายพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนทุกช่วงวัยอย่างเหมาะสม ทั้งในมิติความสามารถทางในการคิด ความรู้  เชิงเทคนิคเฉพาะ และกรอบความคิดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะแก่ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1)   กลุ่มนักเรียนนักศึกษา 2) กลุ่มวัยทำงาน 3) ประชาชนทั่วไป และ 4) กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม

          “การพัฒนาหลักสูตร Coding สำหรับอาชีพที่ 2 หรือ Coding สำหรับคนว่างงาน มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ว่างงานได้ศึกษาหาทางออกสำหรับตนเอง ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล โดยใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ STI เป็นฐานในการแก้ปัญหา และมีการให้คำแนะนำ สำหรับแต่ละกลุ่มที่มีบริบทแตกต่างกัน มุ่งเน้นให้ตอบโจทย์ “สร้างความคิด พิชิตปัญหา พัฒนาตนเอง แก้ไขปัญหาสังคม” โดยเริ่มต้นด้วยการพัฒนาหลักสูตร Coding for Farm : การทำเกษตรกรรมแบบปราณีตตามแนวพระราชดำริ เป็นหลักสูตรต้นแบบ และ จะดำเนินการจัดอบรมแบบ onsite เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการ และสามารถนำผลลัพธ์ของการอบรมหลักสูตรไปปรับใช้ เพื่อให้ดำเนินการหลักสูตรอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

          ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธานอนุกรรมการ Coding เพื่อการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ในขณะนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสังคมออนไลน์มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการรับข้อมูลการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของประชาชน ปัจจุบันการรับรู้ข้อมูลและข่าวของแต่ละคนผ่านอุปกรณ์มือถือนั้นได้ถูกคัดเลือกและปรับแต่งโดย AI ให้ตรงกับความรู้สึกและค่านิยมของแต่ละคน ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่แต่ละปัจเจกได้รับไม่ตรงกัน นำสู่การแบ่งแยกกลุ่มและขยายความคิดเห็นขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแต่ละคนเข้าใจว่าข้อมูลที่ตนได้รับนั้นเป็นชุดข้อมูลเดียวกับที่คนอื่นได้รับซึ่งไม่จริง ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานของระบบการส่งต่อของข้อมูล ข่าวสาร ผ่านการเรียนรู้ Coding จะช่วยให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณและเข้าใจ”   

           นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ พร้อมทั้งการหายไปของงานบางอาชีพ ซึ่งมีระบบอัตโนมัติ ระบบปัญญาประดิษฐ์และระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ องค์ความรู้ด้านโคดดิ้งจึงจะเข้ามามีส่วนพัฒนาทักษะดิจิทัลและสร้างแหล่งงานใหม่เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มแรงงานในภาพรวม ทั้งแรงงานภาคเอกชนและแรงงานชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กวัยเรียน

           “ปัจจุบันโค้ดดิ้งเป็นนโยบายแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุ Coding เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมจะได้เรียนรู้ Coding ในโรงเรียน นอกจากนั้นรัฐ ก็จะส่งเสริมประชาชนทุกช่วงวัยได้มีโอกาสเรียนรู้โค้ดดิ้ง เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางสังคมของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างสูงต่อโลกทัศน์และการตัดสินใจของประชาชน”

          ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ อนุกรรมการและเลขานุการ Coding เพื่อการปฏิรูปประเทศ  กล่าวเสริมว่า ช่วงปี 2564-2565 เน้นการพัฒนาครูที่รอบรู้ด้านดิจิทัล (ครู DL ต้นแบบ) ให้ครอบคลุมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ครูทั่วประเทศตั้งเป้าไว้ 20,000 คน  ในทุกช่วงชั้น โดยนำเนื้อหาหลักสูตร Coding for Teacher (C4T) มาเสริมกรอบความคิดและทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิผล โดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในการดำเนินงาน

ติดดตามข่าวสาร สสวท.เพิ่มเติมที่ fb.com/ipst.thai


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content