
ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถพิเศษ
สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สสวท. จัดระบบการพัฒนา และส่งเสริมอัจฉริยภาพและความสามารถพิเศษสำหรับเยาวชนที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยวางรากฐานให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยสาขาขาดแคลน นวัตกร และผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นฐาน รวมถึงครูศักยภาพสูงที่เป็นกำลังสำคัญช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนและขยายผลแก่ครูในท้องถิ่น รวมไปถึงบริหารจัดการนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย

โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) รับนักเรียนที่มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษ ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากทั่วประเทศเพื่อเข้ารับทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และรับสมัครนักเรียนทุน พสวท. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับทุนในระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้นยังรับสมัครเข้ารับทุนต่อเนื่องไปจนถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้งส่งเสริมการทำวิจัยหลังปริญญาเอก ปัจจุบัน สสวท. ขยายฐานหน่วยปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อตอบแทนทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ซึ่งนักวิจัยจะได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ

โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ผลิตครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูง เป็นผู้นำทางวิชาการ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ สควค. ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 – 2567 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ให้มุ่งผลิตครูระดับปริญญาโทที่มีความสามารถพิเศษวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วย
- ประเภทที่ 1 ทุนระดับปริญญาตรี-โท หลักสูตรภาคปกติในประเทศ ศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโททางการศึกษา ในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ หรือสถาบันผลิตครู สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษา โดยเป็นหลักสูตรที่คุรุสภารับรองว่ามีสิทธิ์สอบขอใบประกอบวิชาชีพครูและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรองคุณวุฒิ
- ประเภทที่ 2 ทุนระดับปริญญาโท หลักสูตรภาคปกติในประเทศ ศึกษาระดับปริญญาโททางการศึกษา ในคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ หรือสถาบันผลิตครู สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษา โดยเป็นหลักสูตรที่คุรุสภารับรองว่ามีสิทธิ์สอบขอใบประกอบวิชาชีพครู และ ก.ค.ศ. รับรองคุณวุฒิ

โครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นโครงการคัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยสามารถจัดส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันตามข้อกำหนดของการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศได้ทัดเทียมกับนานาชาติ และผู้แทนประเทศไทยยังสามารถสร้างผลงานในเวทีนานาชาติได้ยอดเยี่ยม

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นโครงการที่คัดเลือก ให้รางวัล และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศที่มีความสามารถพิเศษให้ความสนใจและต่อยอดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น ผ่านเครือข่ายศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถนำกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาไปจัดกิจกรรมแก่นักเรียนโรงเรียนศูนย์และโรงเรียนเครือข่าย