
สังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ ทำให้พลเมืองโลกจำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโลกได้อย่างผาสุก ตัวช่วยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนของชาติเติบโตเป็นประชากรที่มีความรู้ มีทักษะและเจตคติที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข คือการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยในรอบหลายปีมานี้ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เป็นที่พูดถึงอย่างมากในแวดวงการศึกษา แล้วหลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร ทำไมเด็กต้องเรียนฐานสมรรถนะ
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายว่า การก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล ทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงหลักสูตรที่ใช้เรียนกันในปัจจุบัน คือ หลักสูตร พ.ศ. 2551 ที่แม้จะมีการปรับปรุงไปเมื่อปี พ.ศ. 2560 แต่จากการวัดและประเมินผลในภาพรวมทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับให้ผลที่สอดคล้องกันคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังไม่สะท้อนถึงศักยภาพของผู้เรียนที่สามารถออกไปสู่สังคมโลกและชีวิตการทำงานในอนาคตได้
ดังนั้น หลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นเหมือนของขวัญที่จะให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งบ่มเพาะเด็กไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษ 21 นั่นคือ 4C ได้แก่ creativity critical thinking collaboration และ communication และเสริมด้วยสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ ความฉลาดรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ รวมถึงความเป็นพลเมืองโลกที่เข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
ในขณะเดียวกัน การศึกษาควรพัฒนาเยาวชนให้มีเครื่องมือเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อปรับใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยอิงสมรรถนะ เน้นสิ่งที่ผู้เรียนควรเรียนรู้ ทำให้เป็น มีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่เหมาะสม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มากกว่าการกำหนดเนื้อหาว่าต้องเรียนอะไร ให้การเรียนรู้มีความหมายและมีคุณค่าบนพื้นฐานความเป็นจริงในชีวิต
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวเสริมว่า จริง ๆ เรื่องการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะนั้นมีการนำไปปรับใช้ในโรงเรียนบ้างแล้ว แต่การมีหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ทุกอย่างออกมาถูกต้องเหมาะสมและเป็นไปตามเป้าประสงค์ของประเทศ
การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะจะช่วยบูรณาการความรู้หลายศาสตร์ควบคู่ไปกับการทดลองลงมือทำจากสถานการณ์จริง เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาทักษะ พร้อมสอดแทรกแนวคิดและเจตคติที่ดี ซึ่งถ้าเราไม่เรียนรู้เชิงสมรรถนะแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะแยกส่วนกัน เด็กไม่รู้ว่าความรู้มาจากไหน ต้องรู้ไปทำไม และจะเอาไปทำอะไรต่อได้
ในส่วนของครูนั้นคงต้องปรับบทบาทไปสู่นักออกแบบในชั้นเรียน ที่สามารถนำเอาสาระความรู้มาจัดวางให้สอดรับกับสถานการณ์จริงได้ ต้องเป็นนักตั้งคำถาม เปิดประเด็นที่น่าสนใจเพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากค้นคว้าต่อ และครูต้องพานักเรียนสะท้อนปัญหาหลังกิจกรรมการเรียนรู้ และพาคิดอย่างเชื่อมโยงเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของตัวเองและระบบธรรมชาติรอบตัว
ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะ สสวท. ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศในการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองผู้อำนวยการ สสวท. ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า สสวท. มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้จริงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของ สสวท. ปี พ.ศ. 2566-2570 มีขึ้นเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า “สสวท. เป็นองค์กรที่เน้นการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก”
โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ของ สสวท. ที่เชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ได้แก่
1. Integrative Curriculum = “พัฒนาหลักสูตร สื่อ ต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ และเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย” โดยใช้ความชำนาญและความร่วมมือกันของชาว สสวท. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านหลักสูตรสื่อ นวัตกรรมด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ และนวัตกรรมด้านการวัดและประเมินผล ให้เป็นฐานที่มั่นคงในการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ
2. Innovative Platform = “พัฒนาและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง” ผ่านการบริหารจัดการองค์ความรู้ในโลกดิจิทัล ผสานเทคโนโลยี AI เพื่อติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้และความสนใจของผู้เรียน เชื่อมโยงผู้เรียนเข้ากับแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลอย่างมีเหมาะสม ตอบโจทย์แนวทางการศึกษาตลอดชีวิต
3. Inclusive Teaching = “ขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะด้วยวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างมีส่วนร่วม ให้สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก” เพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะมีคุณภาพ สสวท. จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมครูให้มีความพร้อม ผ่านกิจกรรมการอบรมต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาทั่วประเทศ
สสวท. พร้อมขับเคลื่อการศึกษาไทยด้วย “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เพื่อให้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เป็นของขวัญแก่เด็กและเยาวชนไทยให้สามารถเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกในโลกอนาคตได้อย่างผาสุก
ที่มา : เสวนาวิชาการ เรื่อง พลิกโฉมการเรียนรู้ SMT เพื่อการศึกษาฐานสมรรถนะ ในงาน “วันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี” (ออนไลน์) วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565
ผู้ร่วมเสวนา 1) ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ 2) รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ 3) ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองผู้อำนวยการ สสวท. และ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.เหมือนฝัน เยาว์วิวัฒน์
ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสด และคลิปย้อนหลังกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง Facebook : IPST Thailand หรือ Youtube : IPST Channel และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Website : https://50th.ipst.ac.th/
