ผู้อำนวยการ สสวท. ให้การบรรยาย “Coding และการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแห่งโลกอนาคต”

กรุงเทพฯ / 21 ตุลาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รับเชิญบรรยายเชิงวิชาการ “AI เทคโนโลยีเพื่ออนาคตแห่งการเรียนรู้ (Artificial Intelligence technology for the future of learning)” ในหัวข้อ “Coding และการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแห่งโลกอนาคต (Coding and the development of student competency in the future world)” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom ซึ่งจัดโดย โครงการ SDU Future-Ed ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า “โลกในยุคปัจจุบันมีความผันผวน ไม่แน่นอน มีความสลับซับซ้อนและไม่ชัดเจน หรือที่เรียกกันว่า VUCA World นั้น ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ คณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติจึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และวางนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ในทุกช่วงวัย โดยมุ่งหวังให้เกิดพลเมืองที่มีทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ อ่านและเขียนได้อย่างมีวิจารณญาณ เป็นต้น พร้อมกันนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้วางกรอบหลักสูตรที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ การสื่อสารด้วยภาษา การจัดการและการทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน”

“นอกจากการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว การวัดผลประเมินผลในโลกยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยเน้นการวัดสมรรถนะของผู้เรียนดังการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นการวัดการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน อันเป็นการบ่งชี้คุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง”

“สสวท. ได้ดำเนินการด้านการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการวัดผลประเมินผลในระดับโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อตอบรับนโยบายอันเร่งด่วนของประเทศ ปัจจุบัน สสวท. ได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบหนังสือเรียน และสื่อเสริมต่าง ๆ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ในหลากหลายช่องทาง เช่น โครงการสอนออนไลน์ Project 14 คลังความรู้ SciMath ระบบอบรมครู Teacher PD เป็นต้น” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเสริม


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content